ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
ประวัติความเป็นมา

ในอดีตรัฐบาลไทยรู้จักองค์การศาสนาคริสต์ในประเทศไทยเพียงนิกายโรมันคาธอลิกและนิกายโปรแตสแตนท์ คือสภาคริสตจักรในประเทศไทยเท่านั้นแต่ความเป็นจริงยังมีกลุ่มคริสเตียน คริสตจักร  องค์การคณะมิชชั่น และสถาบันคริสเตียนใหญ่น้อยกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วประเทศไทยโดยไม่ได้เข้าสังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทยด้วยเหตุผลต่างๆ กัน และเมื่อนำเอากลุ่มคริสตจักรองค์การมิชชั่นและสถาบันดังกล่าวมารวมกันเข้าก็นับจำนวนมิใช่น้อย ความคิดเกี่ยวกับการประสานงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างองค์การที่ทำพันธกิจในการประกาศคริสตศาสนาในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1956 (2499) คือได้มีการประชุมพบปะกันเป็นครั้งคราว และทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมิชชันนารี และเรียกตัวเองเป็นภาษาอังกฤษว่า “อิแวนเจลิคอล เฟลโลชิพ” (Evangelical Fellowship) กระทั่งปีค.ศ.1969 (2512) ศาสนาจารย์สุข พงษ์น้อย และศาสนาจารย์ อีกหลายท่านพร้อมกับมิชชันนารีบางคน ได้มีการจัดตั้งองค์การอย่างเป็นทางการใช้ชื่อ “สหสัมพันธกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย” ขึ้นเพื่อให้บรรดาคริสเตียนนิกายโปรเตสแตนท์เหล่านี้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้าง สามัคคีธรรม และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อสะดวกต่อการติดต่อกับหน่วยงานราชการ จึงได้ขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นองค์การขึ้นต่อทางราชการโดยใช้ชื่อใหม่ว่า “องค์การสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย” ชื่อย่อภาษาไทย “สคท.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Evangelical Fellowship of Thailand” ใช้ชื่อย่อว่า E.F.T” และได้รับการรับรองจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรม) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1969 (2512) ให้เป็นองค์การใหญ่ทางศาสนาคริสต์อันดับที่ 3 ในประเทศไทย ต่อจากสมาคมคาทอลิก และ สภาคริสตจักรในประเทศไทย

เริ่มแรกมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 296/3- 4 ถนนสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร ตามใบอนุญาตเลขที่ 5/2512 ลงวันที่ 9 กันยายน 2512 และต่อมาในปี 1976 (2519) จึงได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้น ชื่อว่า“มูลนิธิสหกิจคริสเตียน” ชื่อย่อภาษาไทย ” ม.ส.ค.”  ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Evangelical Fellowship Foundation” ชื่อย่อภาษาอังกฤษ E.F.F.” และในปีเดียวกันนี้ได้ย้ายสำนักงานจากที่เดิมไปอยู่ เลขที่ 356 ถนนศรีอยุธยา เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร กระทั่งปี 1979 ได้ซื้อสำนักงานใหม่ที่สีลม ได้ย้ายมาอยู่ที่ 485/20 ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เมื่อพันธกิจของสมาชิกเพิ่มขึ้นโดยการเจริญเติบโตของคริสตจักร องค์กร  องค์การมิชชันนารี และสถาบันพระคริสตธรรม การบริการหมู่มวลสมาชิกจำเป็นต้องมีสำนักงานที่ใหญ่พอ มีห้องประชุมรองรับการประชุมของพนักงานเจ้าหน้าที่  กรรมการอำนวยการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนต่างๆ ที่มีการประชุมกันบ่อยครั้ง จึงได้ซื้ออาคารสำนักงานห้าชั้น บนพื้นที่จำนวน 175 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 64/1ซอยรามคำแหง 22 ถนนรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพ และย้ายเข้าสำนักใหม่เมื่อปี 2005 จวบจนปัจจุบัน

สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย เริ่มต้นมีสมาชิกที่เป็นคริสตจักร 7 แห่ง องค์การมิชชั่น 9 แห่ง และสถาบันพระคริสตธรรม 1 แห่งในระยะเวลา 49 ปี พระเจ้าอวยพรให้พันธกิจของพระองค์เจริญเติบโตขึ้น อย่างน่าอัศจรรย์ ปัจจุบัน (2018) มีสมาชิกแบ่งเป็นองค์กรคริสตจักร องค์การพันธกิจคริสเตียนและมิชชั่น และสถาบันพระคริสตธรรม รวมกันทั้งสิ้น 210 แห่ง จำนวนคริสตจักร รวมทั้งสิ้น  2,729 แห่ง จำนวนคริสเตียน  196,177 คน (นับอายุ 15 ปีขึ้นไป)ในสังกัดทั่วประเทศ มีโควต้ามิชชันนารีจำนวน 786 โควตา (เริ่มต้นที่ 850 โควต้า)  มีคณะกรรมการอำนวยการ ทำหน้าที่บริหารงาน จำนวน 15 คน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 11 คน และมีคณะกรรมการดำเนินงานพันธกิจ 7 คน (เป็นผู้แทนภาค) สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย มีคติพจน์ คือ “พันธกิจเป็นหลัก ความรักเป็นฐาน บริการเป็นเลิศ”

ประธานสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย จากอดีต จนถึงปัจจุบัน 6 ท่าน ได้แก่ 1. ศจ.สุข  พงษ์น้อย (1969-1972) 2. ศจ.ดร.จรัญ รัตนบุตร (1972-1996) 3. ศจ.ดร.ศิลเวช  กาญจนมุกดา (1996-2006) 4. ศจ.ดร.มาโนช  แจ้งมุข (2006-2010) 5. ศจ.ดร.ปรีชา เจ็งเจริญ (2010-2012) 6. ศจ.ดร.วีรชัย  โกแวร์ (2012-2018) 7. ศจ.ดร.มาโนช  แจ้งมุข ได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธาน วาระ (2018-2022) และ วาระ (2022-2026)

 

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

1. เพื่อส่งเสริมการประสานงานและความร่วมมือกัน

2. ส่งเสริมการเผยแพร่ข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์

3. ส่งเสริมการเจริญฝ่ายจิตวิญญาณของคริสเตียน

4. ส่งเสริมการผลิตและการใช้สื่อสารมวลชนของคริสเตียน

5. ส่งเสริมการสังคมสงเคราะห์และสาธารณประโยชน์

 

แผนภูมิ การบริหารงาน สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ปี 2018-2022

สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย มีสมาชิกภาพ 3 ประเภท ประกอบด้วย

สมาชิกประเภทสามัญ ได้แก่ องค์กรคริสตจักร องค์การพันธกิจ และสถาบันศาสนศาสตร์

สมาชิกประเภทวิสามัญได้แก่ องค์กรคริสตจักร องค์การพันธกิจและสถาบันศาสนศาสตร์ที่ต้องการร่วม พันธกิจและสามัคคีธรรมกับสหกิจคริสเตียนฯ แต่ยัง ไม่พร้อมเป็นสมาชิกสามัญ

สมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ ได้แก่ องค์การต่างประเทศที่มาร่วมทำพันธกิจในประเทศไทย เป็นสมาชิกในรูปแบบพันธมิตรเท่านั้น

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของ สคท.

แท้จริงแล้วสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทยมี ลำดับความเป็นมามากกว่า 36 ปี ถ้าจะนับตั้งแต่ปีเริ่มต้นที่คณะผู้นำองค์กรมิชันนารีและผู้นำคริสตจักรไทย ได้มารวมตัวกันจัดตั้งองค์กรใหม่ มีเวลาร่วม 50 ปี แต่ว่าในที่นี้ขอลำดับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เพื่อพี่น้องได้ทราบความเป็นมาของพันธกิจสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ดังนี้
30 กรกฎาคม 1956 ได้ มีการนัดพบกันระหว่าง ผู้นำคริสตจักรไทยและตัวแทนองค์กรมิชชันนารีอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่บ้าน พัก CMA ถนนสีลม ในนามกลุ่ม Evangelical
24 กันยายน 1956 คณะ กรรมการบริหารประชุมเพื่อวางแผนการจัดการประชุมประจำปี และเตรียมต้อนรับการมาเยือนของ ศจ.เบน วัตตี เลขานุการ สหกิจแห่งอินเดีย และมอบหมายให้ ศจ.บุญมาก กิตติสาร ช่วยแปลธรรมนูญและระเบียบต่างๆ เป็นภาษาไทย
29-30 สิงหาคม 1956 มีการประชุมสหกิจโลก (WEF) ที่เมืองบาริงตัน โรดไอซ์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และมีการพบกันระหว่างผู้แทนจากเอเชีย 10 ประเทศ ในการประชุมนั้น ตัวแทนจากประเทศไทยที่เข้าร่วมชื่อ ธีโอ.จี.ซีเมอร์ จากขอนแก่น ได้นำหลักการ เอเชียประกาศกับเอเชีย และแต่ละประเทศมีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า อีแวนเจลิคอล มาหนุนใจผู้นำคริสตจักรไทย
20 กุมภาพันธ์ 1959 ได้จัดให้มีการประชุมขึ้น ณ หอพระคริสตธรรม (สมาคมพระคริสตธรรมไทย) ถนนสาทร  และได้มีการเลือกคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ กรรมการชุดนี้มีมติผลในการดำเนินงานตามธรรมนูญของกลุ่มอีแวนเจลิคอล
21 มีนาคม 1964 คณะกรรมการมีมติเรื่องการจัดพิมพ์วารสารคริสเตียน ใช้ชื่อว่า Christian Worker’s Bulletin และแต่งตั้งให้ แหม่มมาร์วิน มาติน เป็นเลขานุการ และเหรัญญิกของกรรมการด้วย
20 สิงหาคม 1965 ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติแต่งตั้ง ศจ.ซาลาเบิร์ก และ ศจ.โซโบลม เตรียมการจัดตั้งมูลนิธิ อี.เอฟ.ที. ขึ้น ในระหว่างปี 1966 คณะกรรมการพยายามศึกษาและหาทางจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา เพื่อรองรับการดำเนินด้านทรัพย์สินที่ดินและอื่นๆ และมีการส่งตัวแทนไปประชุมต่างประเทศเป็นครั้งคราว
17 ตุลาคม 1967 มี การประชุมกัน ณ บ้านเลขที่ 2 ถนนประมวญ มีกรรมการไทยได้รับเชิญเข้าร่วมเพิ่มอีกคน คือ อาจารย์คำรบ  บุญศิริ ที่จะเข้ามาช่วยในการจัดทำวารสารใหม่มีชื่อว่า สหายร่วมงาน และในการประชุมครั้งนี้ ได้เสนอข้อคิดเห็นว่า ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อช่วยเรื่องวีซ่าของมิชชันนารีขึ้นโดยติดต่อกับ กรรมการศาสนา โดยเฉพาะผู้ร่วมงานที่ไม่ใช่ สภาคริสตจักร มีความจำเป็นและอาจารย์โอเวอร์การ์ด ได้อ่านจดหมายเชิญร่วมประชุมของสหกิจโลก WEF ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะจัดส่งผู้แทนไทยเข้าร่วม
16 กุมภาพันธ์ 1969 ณ บ้านอาจารย์สุข พงศ์น้อย กรุงเทพฯ มีกรรมการเข้าร่วม คือ อาจารย์สุข พงศ์น้อย, อาจารย์คำรบ บุญศิริ, อาจารย์สิมมา สิมเสน, อาจารย์พอล อัลไฮมน์, อาจารย์โรเบิร์ต ซาโบลม ในการประชุมครั้งนี้เอง คณะกรรมการมีมติมให้ใช้ชื่อกลุ่มเป็นภาษาไทยว่า สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย จากชื่อที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษตลอดมาว่า Evangelical Fellowship และในชื่อเดิมเรียก สหพันธกิจคริสเตียน
6 พฤษภาคม 1969 คณะกรรมการได้รับจดหมายจากองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนาว่า อยากจะรู้จักสหกิจคริสเตียนว่าเป็นองค์กรอย่างไร สำนักงานตั้งอยู่ที่ไหน มีความเกี่ยวพันกับองค์กรต่างประเทศอย่างไร หรือมีที่ดินทรัพย์สินบ้างไหม วันที่ 21 กรกฎาคม 1969 ตัวแทนขององค์กรมิชชันนารี ผู้นำคริสตจักรไทยในกลุ่มสหกิจคริสเตียน ได้รับเชิญจากกรมศาสนาให้เข้าร่วมประชุมที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ ประมาณ 40 คน เพื่อปรึกษาหารือการเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทย
4 กรกฎาคม 1969 กรรมการได้รับจดหมายจากกรมการศาสนาเกี่ยวกับการยอมรับและนับว่า สหพันธกิจคริสเตียน หรือ สหสัมพันธกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย เป็นองค์การใหญ่องค์กรหนึ่งและเป็นองค์การที่ 3 ของศาสนาคริสต์ รองจาก 1. คาทอลิก และ 2. สภาคริสตจักรในประเทศไทย
22 กรกฎาคม 1969 จากมติของคณะกรรมการ
– ให้ส่งอาจารย์สุข พงศ์น้อย เป็นตัวแทน EFT ไปเข้าเฝ้าถวายพระพรในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม 1969
– กรมการศาสนาส่งจดหมายลงวันที่ 19 มิถุนายน 1969 ว่าได้รองรับการจดทะเบียนองค์การสหกิจคริสเตียนแล้ว แต่ขอให้กำหนดตรา (โลโก้) ขององค์กร และให้เปิดรับสมาชิกอย่างเป็นทางการ
30 กันยายน 1969 คณะกรรมการได้รับจดหมายจากกรมการศาสนาว่า ได้รับรองให้เป็นองค์การใหญ่ทางคริสตศาสนา นิกายโปรเตสแตนท์แล้ว การใช้ชื่อครั้งแรกชื่อว่า องค์การสหพันธกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนกับกองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ รับใบอนุญาติเลขที่ 5/2512 ลงวันที่ 9 กันยายน 1969 (พ.ศ. 2512) โดยมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 296/3-4 ถนนสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ โดยใช้อาคารที่ร้านหนังสือประเสริฐบรรณาคารเดิม (คริสเตียนลิทเทอเรเจอร์ครูเสด CLC) เป็นสำนักงานช่วงแรก
23 ตุลาคม 1969 อนุมัติ รับสมาชิกรายบุคคล และองค์กร ดังนี้ ศจ.คารเวย์ และภรรยา, น.ส.โดโรธี ยูลิค (อเมริกันเชิร์ชออฟไคร้ส) อาจารย์ฟานี่ และภรรยาจาก โอ.เอ็ม.เอฟ. อาจารย์ดอน แมคเมอเล่ย์ (Assemblies of God) และคุณวีรชัย โกแวร์ (เข้าร่วมงานกับอาจารย์ดอน)
10 ธันวาคม 1969 คณะ กรรมการมีมติเชิญ ศจ.จรัญ  รัตนบุตร เข้าร่วมเป็นกรรมการ และได้เริ่มเป็นตัวแทนของสมาชิกในการขอโควต้าวีซ่าจากกรมการศาสนา เพื่อการเผยแพร่ตามกฎหมาย  หลังจากได้จดทะเบียนเป็นองค์กรใหญ่ทางศาสนาคริสต์แล้ว สหกิจคริสเตียนจึงเปิดรับสมาชิกเข้าในสังกัด โดยมีสมาชิกเป็น 4 ประเภท คือ องค์การมิชชันนารีจากต่างประเทศ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นในประเทศ (ซึ่งต่อมาให้เรียกเป็นประเภทเดียวกัน คือ สมาชิกประเภทองค์กร) สมาชิกที่เป็นคริสตจักร และสมาชิกรายบุคคล
ปี 1969 ถึง ปี 1971 สคท. ได้รับสมาชิกประเภทคริสตจักร รวม 7 คริสตจักร ประเภทองค์กร 9 องค์กร และประเภทสถาบัน 1 สถาบัน
ปี 1972 ศาสนาจารย์สุข พงศ์น้อย ได้จากไปอยู่กับพระเจ้า คณะกรรมการอำนวยการ สคท. จึงได้มีมติเลือกศาสนาจารย์จรัญ รัตนบุตร ศิษยาภิบาลคริสตจักรกรุงเทพ เป็นประธานสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
ปี 1976 สห กิจคริสเตียนแห่งประเทศไทยได้ย้ายสำนักงานจากร้านหนังสือประเสริฐบรรณาคาร ถนนสีลม บางรัก เนื่องจากเจ้าของอาคารต้องการที่ดิน ไปอยู่ที่คริสตจักรกรุงเทพ เลขที่ 356 ถนนศรีอยุธยา พญาไท
ปี 1978 สหกิจคริสเตียนร่วมกับสภาคริสตจักรในประเทศไทย คริสตจักรแบ๊บติสต์ และหน่วยงานคริสเตียนอื่นๆ จัดงานฉลองครบรอบ 150 ปี คริสตจักรโปรเตสแตนท์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ เป็นองค์ประธานเปิดงาน ณ หอธรรม โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ปี 1979 คณะ กรรมการอำนวยการ สคท. เห็นความสำคัญของการมีอาคารที่ดินเป็นของตนเอง จึงได้ขอความร่วมมือกับคริสตจักร องค์การภายใต้ สคท. มิชชันนารีและคริสตจักรไทยทั่วไป ถึงการซื้อที่ดินและอาคารสำนักงาน ในที่สุดก็ได้ซื้อตึกแถว 1 คูหา 4 ชั้น เลขที่ 485/20 ถนนสีลม บางรัก กรุงเทพฯ ในราคา 1,200,000 บาท และได้ทำพิธีมอบถวายอาคารเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1979 โดยร้อยเอกอดุลย์  รัตตานนท์ อธิบดี กรมการศาสนาเป็นประธานในพิธีเปิด (ก่อนหน้านั้นบริเวณดังกล่าวเป็นคลองระบายน้ำ เลียบคลองช่องนนทรี)
ปี 1980 ประชุมประจำปี  30 มีนาคม-3 เมษายน 1981 ที่คริสตจักรกรุงเทพ
ปี 1981 ประชุมประจำปี 29 มีนาคม-1 เมษายน 1982 ที่คริสตจักรร่มเย็น หัวข้อ เกิดผลเพื่อพระคริสต์
ปี 1982 ประชุมประจำปี 29-30 มีนาคม 1983 ที่ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ พญาไท และคริสตจักรกรุงเทพ หัวข้อ สามัคคีเพื่อพระคริสต์
ปี 1983 ประชุมประจำปี 28-30 มีนาคม 1984 ที่คริสตจักรใจสมาน หัวข้อ รุดหน้ากับพระคริสต์
ปี 1984 ประชุมประจำปี 26-29 มีนาคม 1985 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ ร่วมใจในสหกิจ ฯ นำพระคริสต์สู่ชาวไทย
ปี 1985 ประชุมประจำปี 25-28 มีนาคม 1986 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ เติบโตร่วมกันในพระเยซูคริสต์
ปี 1986 ประชุมประจำปี 24-27 มีนาคม 1987 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ เสริมสร้างซึ่งกันและกัน
ปี 1987 ประชุมประจำปี 29 มีนาคม-1 เมษายน 1988 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ ตามพระมหาบัญชา
ปี 1988 ประชุมประจำปี 26-31 มีนาคม 1989 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ ผู้รับมหาบัญชา
ปี 1989 ประชุมประจำปี 27-30 มีนาคม 1990 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ เราจะสร้างคริสตจักร (มธ.16:18)
ปี 1990 ประชุมประจำปี 25-28 มีนาคม 1991 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ คนรับใช้ของพระคริสต์
ปี 1991 ประชุมประจำปี 24-27 มีนาคม 1992 ที่ศูนย์อบรม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนนครปฐม หัวข้อ สงครามฝ่ายวิญญาณ
ปี 1992 ประชุมประจำปี 23-26 มีนาคม 1993 ที่สถานอบรมคริสเตียนแบ๊บติสต์ พัทยา จ.ชลบุรี หัวข้อ จงถวายตัว
ปี 1993 ประชุมประจำปี 22-25 มีนาคม 1994 ที่โรงแรมมารีนบีช พัทยา จ.ชลบุรี หัวข้อ การสร้างสาวก
ปี 1994 ประชุมประจำปี 21-24 กรกฎาคม 1995 ที่โรงแรมมารีนบีช พัทยา จ.ชลบุรี หัวข้อ การบริหารยุคใหม่
ปี 1995-1996 ประชุมประจำปี 19-22 มีนาคม 1996 ที่โรงแรมมารีนบีช พัทยา จ.ชลบุรี หัวข้อ การนมัสการ หลังการประชุมใหญ่ประจำปี และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการอำนวยการที่ประชุมของคณะกรรมการมีมติเลือก ศจ.ศิลเวช  กาญจนมุกดา  เป็นประธานกรรมการ และที่ประชุมเสนอแต่งตั้ง ศจ.ดร.จรัญ  รัตนบุตร เป็นประธานเกียรติคุณ ถือเป็นเกียรติที่อาจารย์รับใช้ สคท.มานาน
ปี 1997-1998 17-21 มีนาคม 1997 จัดการประชุมใหญ่พันธกิจนิมิต 2000 ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย สุขุมวิท 19  ประชุมประจำปี 24-27 มีนาคม 1998 ที่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ หัวข้อ สามัคคีธรรมเพื่อพระคริสต์ เป็นครั้งแรกที่มีการประชุมใหญ่ สคท. ที่ใช้สถานที่ประชุมทางภาคเหนือ
ปี 1999 – ปี 2000 ประชุมประจำปี 28-31 มีนาคม 2000 และฉลองครบรอบ 30 ปี สคท. ณ โรงแรมรอยัลพาเลซ พัทยาใต้ ในการจัดงานฉลอง ให้ตัวแทนทั้ง 6 ภาค สคท.ที่เข้าร่วมประชุม แต่งกายพื้นเมืองตามภาค
ปี 2002 สคท.จัดประชุมใหญ่ประจำปีที่ศูนย์นวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัทยา จ.ชลบุรี และมีการแก้ไขธรรมนูญของ สคท. ที่ประชุมมีมติแก้ไขและเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานของ สคท. รูปแบบใหม่ สมาชิกของ สคท.มี 3 ประเภท คือ องค์กรคริสตจักร องค์การ และสถาบัน
ปี 2003 กรรมการอำนวยการมีมติ ซื้อที่ดินและอาคารสำหรับสำนักงานใหญ่ เลขที่ 64/1 ถนนรามคำแหง ซอย 22
ปี 2004 จัดงานฉลอง 175 ปี โปรเตสแตนท์ โดยจัดงานร่วมกันในนามของกรรมการประสานงานโปรเตสแตนท์ในประเทศไทย (กปท.) โดยคณะกรรมการได้มอบหมายแต่งตั้งให้ ศจ.ดร.มาโนช  แจ้งมุข เป็นประธานการจัดงาน ในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ท่าน รองนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง มาเป็นประธานเปิดงาน
ปี 2005 สคท. ได้จัดพิธีมอบถวายอาคารสำนักงานหลังใหม่ เลขที่ 64/1 ถนนรามคำแหง ซอย 22 โดยประธาน สคท. และกรรมการ ตลอดจนผู้นำคริสเตียน ได้มาร่วมพิธีมอบถวายอาคารดังกล่าว